แอลคาร์นิทีน (L-carnitine)

แอลคาร์นิทีน (L-carnitine)

Overview

แอลคาร์นิทีน คือ อนุพันธ์ของกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ร่างกายสามารถผลิตเองได้จากกรดอะมิโนไลซีน และ เมไทโอนีน นอกจากนี้ยังได้รับผ่านอารหารที่มาจากเนื้อสัตว์ หรือ ปลา เป็นต้น


ผู้ที่อาจมีระดับ แอลคาร์นิทีน ต่ำกว่าคนทั่วไป

  • ผู้ที่กินมังสวิรัติ
  • ทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก Valproic acid
  • เป็นโรคไต หรือ ล้างไต

Benefits

แอลคาร์นิทีน มีประโยชน์อย่างไร ?

แอลคาร์นิทีน มีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตพลังงานให้แก่ร่างกาย โดยช่วยในการขนส่งกรดไขมัน (fatty acid) เข้าสู่ไมโตคอนเดรียเพื่อเผาผลาญและผลิตพลังงาน พบแอลคาร์นิทีนมากที่อวัยวะ เช่น สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ


แอลคาร์นิทีน & โรคต่างๆ 

ภาวะ และ โรคต่างๆต่อไปนี้อาจได้ประโยชน์จากแอลคาร์นิทีน

  • โรคไตที่ได้รับการล้างไต เนื่องจากมีการเสียแอลคาร์นิทีนไประหว่างการล้างไต พบว่าการรับประทานเสริมช่วยให้เม็ดเลือดแดง ความดัน และการทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) ยอมรับการใช้แอลคาร์นิทีนสำหรับรักษา และ ป้องกันการขาดในผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการล้างไต (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้)
  • ภาวะขาดแอลคาร์นิทีน เช่น โรคพันธุกรรมที่มีการขาดแต่กำเนิด
  • โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) การกินแอลคาร์นิทีนช่วยเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย การกินแอลคาร์นิทีนร่วมกับโคเอนไซม์คิว 10 อาจช่วยให้อาการของโรคหัวใจดีขึ้น
    อย่างไรก็ตาม บางกระแสมีความกังวลเนื่องจากแอลคาร์นิทีน สามารถถูกแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนเป็นสาร TMAO (Trimethylamine N-oxide) ซึ่งสารนี้เชื่อว่าอาจทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันได้ง่ายขึ้น แต่ยังไม่มีงานวิจัยพบว่าความกังวลดังกล่าวจริงหรือไม่ ยังต้องรอการศึกษาต่อไป
  • ป้องกันผลข้างเคียงจากยากันชัก Valproic acid
  • ไทรอยด์เป็นพิษ/ไทรอยด์สูง (Hyperthyroid) พบว่าการกินแอลคาร์นิทีนช่วยให้อาการใจสั่น และ อ่อนเพลียในคนที่มีฮอร์โมนไทรอยด์สูง ดีขึ้นได้
  • ภาวะมีบุตรยากในชาย พบว่าการกินแอลคาร์นิทีนช่วยให้จำนวนอสุจิมากขึ้น และ การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิดีขึ้นได้
  • หัวใจอักเสบ (Myocarditis) พบว่าอาจช่วยลดอัตราการตายจากโรคนี้ได้

บางภาวะยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น

  • เพิ่มสมรรถภาพนักกีฬา เนื่องจากพบว่า การออกกำลังกายอย่างหนักสัมพันธ์กับปริมาณแอลคาร์นิทีนในเลือดที่ลดลง อย่างไรก็ตามงานวิจัยยังมีผลไม่ตรงกัน บางงานวิจัยพบว่าแอลคาร์นิทีนช่วยเพิ่มสมรรถภาพ และ ความคงทนของนักกีฬาได้ ในขณะที่บางงานวิจัยพบว่าแอลคาร์นิทีนไม่มีผลดังกล่าว
  • ไขมันโลหิตสูง งานวิจัยเบื้องต้นพบว่า แอลคาร์นิทีนช่วยลดไขมันไม่ดี LDLคอเลสเตอรอลลงได้ ในผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยโรคไตที่ล้างไต
  • อาการอ่อนเพลียเมื่ออายุมาก (Age-related fatigue) พบว่าการกินแอลคาร์นิทีนอาจช่วยลดอาการอ่อนเพลียในผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และลดมวลไขมัน
  • อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) งานวิจัยเบื้องต้นพบว่า การกินแอลคาร์นิทีนเป็นเวลา 2 เดือน ช่วยลดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้
  • ลดน้ำหนัก ยังไม่พบว่าแอลคาร์นิทีนเดื่ยวๆ ช่วยลดน้ำหนักได้แต่อย่างใด

Safety

โดยทั่วไป แอลคาร์นิทีน ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้ในการรับประทาน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง ท้องเสีย หรือ ชัก นอกจากนี้ยังอาจทำให้เหงื่อ หรือ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นได้

ควรระมัดระวังการใช้แอลคาร์นิทีนในผู้ที่มีภาวะต่างๆต่อไปนี้

  • ไทรอยด์ต่ำ การกินแอลคาร์นิทีนอาจทำให้อาการไทรอยด์ต่ำ แย่ลงได้
  • ชัก แอลคาร์นิทีนอาจทำให้ชักได้ง่ายขึ้นในคนที่เคยชักมาก่อน
  • ผู้ที่รับประทานยาต่างๆ เช่น
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin เนื่องจากอาจทำให้เลือดหยุดยากมากขึ้นได้
    • ยาฮอร์โมนไทรอยด์ เนื่องจากอาจทำให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานได้ประสิทธิภาพลดลง

How to Choose / Use

ขนาดของแอลคาร์นิทีนที่ใช้ในงานวิจัยในภาวะต่างๆ

  • ภาวะขาดแอลคาร์นิทีน ใช้ขนาด 990 mg 2-3 ครั้งต่อวัน
  • ป้องกันผลข้างเคียงจากยากันชัก Valproic acid 50-100 mg/kgน้ำหนักตัว/day แบ่งทาน 3-4 ครั้งต่อวัน ขนาดสูงสุดไม่เกิน 3 กรัมต่อวัน
  • โรคหัวใจล้มเหลว 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง
  • ไทรอยด์สูง/ไทรอยด์เป็นพิษ 1-2 กรัม วันละ 2 ครั้ง
  • ภาวะมีบุตรยากในชาย แอลคาร์นิทีน 2 กรัมต่อวัน ร่วมกับ L-acetyl-carnitine 1 กรัมต่อวัน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น