ธาตุเหล็ก (Iron) : ขาดเหล็กทำให้เลือดจางจริงหรือ ? ใครเสี่ยงขาดธาตุเหล็กบ้าง ?

ธาตุเหล็ก (Iron) : ขาดเหล็กทำให้เลือดจางจริงหรือ ? ใครเสี่ยงขาดธาตุเหล็กบ้าง ?
0.0
User Rating 0 (0 votes)
Sending
0 (0 reviews)

ธาตุเหล็ก

(Iron, Ferrous fumarate, Ferrous sulfate)

ธาตุเหล็ก


Overview

เหล็กเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง พบในร่างกายมากที่เม็ดเลือดแดง และ เซลล์กล้ามเนื้อ โดยมีหน้าที่ในการขนส่งก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังแร่ธาตุสำคัญในปฏิกิริยาเอนไซม์ต่างๆของร่างกาย การสร้างคอลลาเจน และระบบภูมิคุ้มกัน


เหล็ก พบในอาหารอะไรบ้าง ?

ธาตุเหล็กพบในอาหารเช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ปลา เต้าหู้ ถั่วต่างๆ ผักใบเขียว


เหล็กในเนื้อสัตว์ และ ในผัก ดูดซึมได้ดีเหมือนกันไหม ?

โดยร่างกายเราดูดซึมธาตุเหล็กจากสัตว์ได้ดีกว่าพืช เนื่องจากสัตว์จะมีเหล็กทั้งที่อยู่ในรูป non-heme และ heme iron ด้วยซึ่ง heme iron เป็นชนิดที่ร่างกายเราดูดซึมได้ดี ส่วนในพืช จะมีเฉพาะ non-heme iron ซึ่งร่างกายดูดซึมได้ไม่ดีเท่า

  • เนื้อสัตว์ มีธาตุเหล็กทั้งชนิด heme และ non-heme
  • ไข่ นม เป็นธาตุเหล็กชนิด non-heme
  • พืช และ ธัญพืชทั้งหมด มีเฉพาะธาตุเหล็กชนิด non-heme
  • อาหารที่เสริมธาตุเหล็ก (iron-fortified food) เป็นธาตุเหล็กชนิด non-heme
  • วิตามินที่มีธาตุเหล็กเสริมต่างๆ เป็นธาตุเหล็กชนิด non-heme

ดังนั้นคนที่เป็นมังสวิรัติแม้จะกินไข่และนม ก็ยังเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก เพราะไข่และนมเป็นธาตุเหล็กชนิด non-heme ที่ดูดซึมได้ไม่ดี


การขาดธาตุเหล็ก มีอาการอย่างไร ?

  • ผิวสีซีด
  • โลหิตจาง
  • ขี้หนาว
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • ผมร่วง
  • เล็บผิดรูป แทนที่จะนูนขึ้นด้านบนปกติ แต่หวำลงเหมือนช้อน (spoon nails)
  • ลิ้นอักเสบ
  • ไม่มีสมาธิ (พบว่าการขาดธาตุเหล็กในวัยเด็กสัมพันธ์กับ IQ ที่ต่ำกว่า)

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะขาดธาตุเหล็ก ?

การขาดธาตุเหล็กเป็นภาวะที่พบได้บ่อย คนที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กมีดังนี้

  1. หญิงวัยที่มีประจำเดือน หรือ ประจำเดือนมามาก
  2. มีริดสีดวงทวารที่เลือดออกมาก
  3. กินมังสวิรัติ หรือ ไม่ค่อยกินเนื้อแดง เนื้อสัตว์
  4. หลังการบริจาคโลหิต
  5. คนที่กินอาหารเหล่านี้เป็นประจำ ชาดำ ชาเขียว กาแฟ ไวน์แดง เนื่องจากมีสาร polyphenol สูงซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ แต่มีฤทธิ์ต้านการดูดซึมธาตุเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง หรือ ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ผงโกโก้ ข้าวโอ๊ต เนื่องจากมีสารไฟเตท (Phytates) ซึ่งยับยั้งการดูดซึุมแร่ธาตุหลายชนิด เช่น เหล็ก สังกะสี แคลเซียม ฟอสฟอรัส แต่สามารถสลายตัวได้เมื่อโดนความร้อน
  6. คนที่กินแคลเซียม สังกะสี แมงกานีส ทองแดง
  7. มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร หรือลำไส้เล็ก เนื่องจากเป็นบริเวณที่ดูดซึมธาตุเหล็ก

Benefits

ธาตุเหล็ก มีประโยชน์อย่างไร ?

ธาตุเหล็ก ช่วยในภาวะต่างๆต่อไปนี้

  • เลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก

โดยสาเหตุที่ขาดธาตุเหล็กอาจเกิดจากการเสียเลือด เช่น ประจำเดือน ริดสีดวงทวาร การบริจาคโลหิต หรือ การกินธาตุเหล็กไม่พอ เช่น กินมังสวิรัติ หรือ ไม่ค่อยกินเนื้อแดงเป็นเวลานาน การกินธาตุเหล็กเสริม สามารถช่วยในภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กได้

  • เลือดจางจากอาการป่วยเรื้อรัง

การเจ็บป่วยเรื้อรังหลายอย่าง เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง สามารถทำให้เกิดภาวะเลือดจางได้ การให้ธาตุเหล็กเสริม รวมถึงการให้ยาฉีด (EPO, Erythropoietin) โดยแพทย์ สามารถช่วยในภาวะนี้ได้

  • อาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg Syndrome)

ที่จะรู้สึกเหมือนมีตัวอะไรมาไต่ที่ขา มักเป็นเวลานอนตอนกลางคืน หรือเวลาที่ต้องนั่งนิ่งๆนานๆ เช่น บนรถ หรือ เครื่องบิน พบว่าการให้ธาตุเหล็กเสริมสามารถลดอาการไม่สบายบริเวณขา หรือ ปัญหาในการนอนหลับจากโรคดังกล่าวได้


Safety

การกินธาตุเหล็กเสริม ปลอดภัยไหม ?

  • โดยทั่วไปการกินธาตุเหล็กเสริมค่อนข้างปลอดภัย หากไม่ได้กินเกินปริมาณที่กำหนด
  • ธาตุเหล็กอาจทำให้อุจจาระมีสีดำได้เป็นปกติ
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ท้องผูก หรือ ท้องเสีย อาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน การกินธาตุเหล็กพร้อมอาหารสามารถช่วยลดอาการข้างเคียงเหล่านี้ได้
  • อย่างไรก็ตามการกินพร้อมอาหารอาจทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง ดังนั้นควรกินเวลาท้องว่างหากเป็นไปได้
  • หลีกเลี่ยงการทานธาตุเหล็กพร้อมนม ชา กาแฟ
  • ผู้ที่ควรระมัดระวังในการกินธาตุเหล็กเสริม
    • โรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย เนื่องจากมีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้อาจมีเลือดจางได้แม้มีธาตุเหล็กเกินอยู่แล้ว การกินธาตุเหล็กเสริมอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นหากมีโรคธาลัสซีเมีย หรือโรคเลือดอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือ ตรวจเพิ่มเติมว่ามีการขาดธาตุเหล็กจริงไหม ก่อนการรับประทาน
    • เบาหวาน เนื่องจากมีบางงานวิจัยพบว่า การกินอาหารที่มีธาตุเหล็กปริมาณมาก เช่น เนื้อแดง อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจในผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวาน (Type 2 diabetes) อย่างไรก็ตามยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน
    • แผลในกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้อักเสบ ธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหารมากขึ้น ควรระมัดระวังในการรับประทาน
  • ผู้ที่รับประทานยาต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการกินธาตุเหล็กเสริม
    • ยาฆ่าเชื้อกลุ่มที่มักรับประทานเมื่อท้องเสีย หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (กลุ่ม Quinolone antibiotics) เช่น Norfloxacin, Ciprofloxacin หรือ ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Tetracycline เนื่องจากธาตุเหล็กอาจทำให้การดูดซึมของยาฆ่าเชื้อดังกล่าวลดลงได้ หากจำเป็นควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
    • ยาเพิ่มมวลกระดูก (Bisphosphonates) ที่ใช้ในคนที่มีกระดูกพรุน เช่น Alendronate (Fosamax) เนื่องจากธาตุเหล็กอาจทำให้การดูดซึมของยาดังกล่าวลดลงได้ หากจำเป็นควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
    • ยาโรคพาร์กินสัน (Levodopa) เนื่องจากธาตุเหล็กอาจทำให้การดูดซึมของยาดังกล่าวลดลงได้
    • ยาฮอร์โมนไทรอยด์ (Levothyroxine) เนื่องจากธาตุเหล็กอาจทำให้การดูดซึมของยาดังกล่าวลดลงได้
    • ยาลดความดัน Methyldopa (Aldomet) เนื่องจากธาตุเหล็กอาจทำให้การดูดซึมของยาดังกล่าวลดลงได้ ควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

How to Choose / Use

การกินธาตุเหล็กเสริมในผู้ใหญ่

  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก : 50-100 mg ของธาตุเหล็กเดี่ยวๆ (elemental iron) วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3-6 เดือน
  • อาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg Syndrome) : มีการใช้ธาตุเหล็กในรูป Ferrous sulfate 325 mg วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน
ปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำต่อวัน (Recommended Dietary Allowances: RDAs)
อายุ ชาย หญิง ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร
แรกเกิด – 6 เดือน 0.27 mg* 0.27 mg*
7–12 เดือน 11 mg 11 mg
1–3 ปี 7 mg 7 mg
4–8 ปี 10 mg 10 mg
9–13 ปี 8 mg 8 mg
14–18 ปี 11 mg 15 mg 27 mg 10 mg
19–50 ปี 8 mg 18 mg 27 mg 9 mg
51 ปีขึ้นไป 8 mg 8 mg

* Adequate Intake (AI)


อาหารอะไรบ้าง ที่ช่วยให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น ?

  • วิตามินซี (Vitamin C)
    วิตามินซีช่วยจับธาตุเหล็กแบบ non-heme ที่ดูดซึมไม่ดี แล้วเก็บไว้ในรูปที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีขึ้น บางการศึกษาพบว่า การกินวิตามินซี 100 mg พร้อมอาหาร ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้ 67%
  • เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ปลา
    พบว่าเนื้อสัตว์เหล่านี้ นอกจากจะมีธาตุเหล็กแบบ heme ซึ่งร่างกายดูดซึมได้ดีแล้ว ยังช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กแบบ non-heme ในอาหารอื่นๆดีขึ้นด้วย บางงานวิจัยพบว่าการเพิ่มเนื้อสัตว์ปริมาณ 75 กรัมเข้าไปในมื้ออาหาร ช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กแบบ non-heme เพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า
  • เบต้าแคโรทีน และ วิตามินเอ
    พบว่าเมื่อให้เบต้าแคโรทีน หรือ วิตามินเอ เสริมร่วมไปกับอาหารเช่น ข้าว ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด พบว่าร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น 2-3 เท่า คาดว่าอาจเป็นจากเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอช่วยป้องกันการยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กของสารไฟเตทได้
  • โฟลิค
  • วิตามินบี 6

สรุป

ผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก หรือมีเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรกินอาหารอย่างไร ?

  1. กินอาหารที่มีธาตุเหล็กชนิด heme มากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ อาหารทะเล ปลา เนื่องจากเป็นเหล็กชนิดที่ร่างกายดูดซึมได้ดี และไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสารต้านการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารอื่นๆที่กินร่วมกันเหมือนในเหล็กชนิด non-heme นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการดูดซึมเหล็กชนิด non-heme ในอาหารอื่นๆอีกด้วย
  2. กินวิตามินซี หรือ ผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงในช่วงมื้ออาหาร เพื่อเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก
  3. ไม่ควรดื่มชา และกาแฟระหว่างมื้ออาหาร หากต้องการดื่มควรดื่มช่วงที่ไม่ได้กินอาหาร เนื่องจากชา และกาแฟ มีสารโพลีฟีนอลที่ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก(อย่าลืมไปพบแพทย์หากมีเลือดจางมาก หรืออาการไม่ดีขึ้นนะครับ ^^)


Reference:

https://ods.od.nih.gov/factsheets/Iron-HealthProfessional/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17691592

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4235202/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10799377

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11029010


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Sending