วิตามินบี6 (ไพริดอกซีน) : สำคัญอย่างไร ? ใครเสี่ยงขาดบ้าง ?

วิตามินบี6 (ไพริดอกซีน) : สำคัญอย่างไร ? ใครเสี่ยงขาดบ้าง ?
0.0
User Rating 0 (0 votes)
Sending
0 (0 reviews)

วิตามินบี6 / ไพริดอกซีน
vitamin B6 / pyridoxine

วิตามินบี6


Overview

  • วิตามินบี6 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำเหมือนวิตามินบีตัวอื่นๆ
  • มีส่วนสำคัญในการทำงานของเอนไซม์ต่างๆมากมายในร่างกาย
  • เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพในการใช้วิตามินบี6 ของร่างกายเราจะลดลง ดังนั้นเราจึงต้องการวิตามินบี6 มากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

อาหารอะไรบ้าง ที่มีวิตามินบี6 สูง ?

  • ยีสต์
  • ตับ
  • เนื้อสัตว์ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน
  • ไข่
  • ถั่ว ธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน ถั่ววอลนัท
  • ผัก

เมื่อขาดวิตามินบี6 จะมีอาการอะไรบ้าง ?

  • เหน็บชา ชายิบๆ
  • แผลในปาก หรือ รอบๆริมฝีปาก
  • อ่อนเพลีย อ่อนแรง
  • นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • ซึมเศร้า

ใครบ้าง ที่เสี่ยงขาดวิตามินบี 6 ?

  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • คนที่ออกกำลังกายหนัก
  • กินยาคุมกำเนิด หรือ ฮอร์โมนทดแทน (estrogen) เป็นประจำ
  • กินยาเหล่านี้เป็นประจำ
    • ยาขับปัสสาวะ หรือ ยาลดความดัน เช่น Hydrochlorothiazide (HCTZ), Hydralazine
    • ยาโรคหอบหืด Theophylline
    • ยาฆ่าเชื้อ เช่น ​Doxycycline, Tetracyclin Penicillins, ยารักษาวัณโรค Isoniazid, ยาฆ่าเชื้อ กลุ่ม Macrolides
    • ยาโรคซึมเศร้า

Benefits

วิตามินบี 6 ช่วยอย่างไร ?

วิตามินบี6 มีส่วนสำคัญในกระบวนการเผาผลาญแป้ง ไขมัน และโปรตีน เพื่อสลายเป็นพลังงาน กระบวนการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโต และพัฒนาการของสมอง ระบบประสาท ผิวหนังที่แข็งแรงอีกด้วย


วิตามินบี6 และโรคต่างๆ

วิตามินบี6 อาจช่วยในภาวะต่างๆต่อไปนี้

  • ภาวะขาดวิตามินบี6
    พบว่าการกินวิตามินบี6 เสริมช่วยลดอาการที่เกิดจากภาวะนี้ได้
  • ซีด เลือดจาง
    พบว่าการกินวิตามินบี6 เสริมในคนที่เป็นโรคเลือดจางแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า sideroblastic anemia สามารถช่วยภาวะนี้ให้ดีขึ้นได้
  • ภาวะโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในเลือดสูง
    (บางงานวิจัยพบว่าค่าที่สูงนี้อาจสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดต่างๆ) พบว่าการกินวิตามินบี 6 เดี่ยวๆ หรือร่วมกับโฟลิค และ วิตามินบี12 อาจช่วยให้ค่าโฮโมซิสเทอีนต่ำลงได้
  • จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration)
    บางงานวิจัยพบว่า การกินวิตามินบี6 ร่วมกับโฟลิค และวิตามินบี12 เสริม อาจช่วยป้องกันโรคดังกล่าวได้
  • ความดันโลหิตสูง
    บางงานวิจัยพบว่าวิตามินบี6 อาจช่วยให้ความดันลดลงได้
  • อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์
    พบว่าการให้วิตามินบี 6 เสริมในคนที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากสามารถลดอาการดังกล่าวได้ สมาคมสูตินรีเวชของสหรัฐอเมริกา (The American College of Obstetrics and Gynecology) ใช้วิตามินบี6 เป็นยาเบื้องต้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง
  • อาการไม่สบายตัวระหว่างมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome)
    บางงานวิจัยพบว่า วิตามินบี6 ช่วยลดอาการระหว่างมีประจำเดือน เช่น ตึงคัดเต้านมได้ โดยควรใช้ขนาดต่ำที่สุดที่ได้ผล เนื่องจากพบว่าขนาดที่สูงขึ้นอาจทำให้มีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์มากขึ้น

Safety

การใช้วิตามินบี6 ปลอดภัยไหม ?

  • โดยทั่วไปการใช้วิตามินบี6 ขนาดปกติค่อนข้างปลอดภัย
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ชา ง่วงนอนบ่อย
  • ขนาดที่สูงเกินไป เช่น มากกว่า 500 mg ต่อวัน อาจทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้
  • การกินวิตามินบีตัวใดตัวหนึ่งปริมาณมากๆ อาจทำให้วิตามินบีตัวอื่นๆในร่างกายไม่สมดุลได้

ยาอะไรบ้าง ที่ควรระมัดระวังในการกินร่วมกับวิตามินบี 6 ?

  • ยาโรคหัวใจ amiodarone (cordarone) ยานี้ทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น การกินยานี้ร่วมกับวิตามินบี6 อาจทำให้ผิวไหม้ หรือผื่นง่ายขึ้นได้เวลาโดนแดด ควรทาครีมกันแดด หรือ สวมเสื้อผ้ามิดชิดเวลาต้องออกแดด
  • ยากันชัก Phenobarbital, Phenytoin (Dilantin) วิตามินบี6 อาจทำให้ร่างกายสลายยานี้เร็วขึ้น อาจทำให้ประสิทธิภาพของยากันชักลดลงได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานร่วมกัน โดยเฉพาะวิตามินบี6 ขนาดสูงๆ
  • ยาโรคพาร์กินสัน levodopa วิตามินบี6 อาจทำให้ร่างกายสลายยานี้เร็วขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานร่วมกัน

How to Choose / Use

ควรใช้วิตามินบี6 ขนาดเท่าไร ?

  • ภาวะขาดวิตามินบี6 : ใช้ขนาด 2.5-25 mg ต่อวัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้น 1.5-2.5 mg ต่อวัน
  • ภาวะขาดวิตามินบี6 ในหญิงที่กินยาคุมเป็นประจำ : 25-30 mg ต่อวัน
  • อาการไม่สบายตัวระหว่างมีประจำเดือน : 50-100 mg ต่อวัน พบว่าขนาดที่สูงกว่า 100mg ไม่มีประโยชน์มากขึ้น และยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
  • ป้องกันจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) : 50 mg ต่อวัน ร่วมกับ วิตามินบี12 ขนาด 1000 mcg และ โฟลิค 2500 mcg
  • อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ : 10-25 mg วันละ 3-4 ครั้ง หรือ 75 mg แบบค่อยๆปลดปล่อยตัวยาออกมา (sustained-release) ร่วมกับวิตามินบี12 ขนาด 12 mcg, โฟลิค 1 mg และ แคลเซียม 200 mg (PremesisRx)
  • สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ขาดวิตามิน ขนาดที่แนะนำต่อวันเป็นดังนี้ครับ
อายุ ปริมาณวิตามินบี6 ที่แนะนำต่อวัน (RDAs: Recommended Dietary Allowances)
เด็กแรกเกิด 0-6 เดือน 0.1 mg
7-12 เดือน 0.3 mg
1-3 ปี 0.5 mg
4-8 ปี 0.6 mg
9-13 ปี 1 mg
14-50 ปี (ชาย) 1.3 mg
50 ปีขึ้นไป (ชาย) 1.7 mg
14-18 ปี (หญิง) 1.2 mg
19-50 ปี (หญิง) 1.3 mg
50 ปีขึ้นไป (หญิง) 1.5 mg
ตั้งครรภ์ 1.9 mg
ให้นมบุตร 2 mg


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Sending