โสม / โสมเกาหลี / โสมจีน
โสม /โสมเกาหลี /โสมจีน (Panax ginseng)
โสมเกาหลี (Korean red ginseng)
โสมจีน (Chinese ginseng)
Overview
โสม (Panax ginseng) มีหลายชนิด ชนิดที่มักใช้กันมากในไทย คือ ‘โสมเกาหลี’ และ ‘โสมจีน’ ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกันแต่ต่างกันที่
- โสมเกาหลี จะเก็บเกี่ยวที่อายุ 6 ปี และนำไปอบไอน้ำแล้วจึงอบแห้ง ทำให้มีสารสำคัญ Ginsenosides มากกว่า จึงมีฤทธิ์แรงกว่า
- โสมจีน เก็บเกี่ยวที่อายุ 4-6 ปี แล้วนำไปตากแดด จึงทำให้เหลือสารสำคัญลดลง และมีสีขาวซีดกว่า จึงนิยมใช้ในผู้สูงอายุ เพราะมีฤทธิ์ไม่แรงมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ต้องระวังสับสนกับ ‘โสมอเมริกา’ (American ginseng) ซึ่งไม่ใช่ Panax ginseng โดยจะมีคุณสมบัติ การใช้ที่ต่างกัน ในที่นี้จะพูดถึง โสมจีน หรือ โสมเกาหลี เท่านั้นครับ
มีการใช้โสมในผู้ที่มีภาวะต่างๆดังนี้
- บำรุงสมอง ความคิด ความจำ สมาธิ โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์
- ลดความเครียดทั้งทางจิตใจ และ ความเครียดทางร่างกาย สมุนไพรที่ช่วยลดความเครียดดังกล่าวนี้มักเรียกภาษาอังกฤษว่า Adaptogen
- โรคซึมเศร้า วิตกกังวล
- อาการเหนื่อยอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
- ภาวะเริ่มเป็นเบาหวาน และ เบาหวาน
- กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- บำรุงสมรรถภาพร่างกาย ป้องกันกล้ามเนื้อบาดเจ็บจากกีฬา หรือ การออกกำลังกาย
- ปัญหามีบุตรยาก
- ปัญหาสมรรถภาพทางเพศชาย และหญิง
- ลดอาการวัยทองช่วงหมดประจำเดือน
- โลหิตจาง
- โรคกระเพาะ
- หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
- โรคติดเชื้อHIV, AIDS
- บางคนใช้โสมร่วมในการรักษามะเร็งเต้านม ป้องกันมะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง
Benefits
โสมช่วยอย่างไร ?
โสมมีสารสำคัญคือ Ginsenosides หรือ Panaxosides ซึ่งช่วยในการทำงานของร่างกายหลายระบบด้วยกัน
โสม & ภาวะต่างๆ
โสมอาจช่วยในโรคและภาวะต่างๆ ดังนี้
- อัลไซเมอร์ งานวิจัยพบว่า การกินโสมทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยให้ความคิด ความจำของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ดีขึ้นได้
- ความคิด ความจำ พบว่าการกินโสมอาจช่วยเรื่องความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (Abstract thinking) การคิดเลขในใจ (Mental arithmetic skills) ความเร็วในการตอบสนอง (Reaction times) ในคนสุขภาพดีทั่วไปในวัยกลางคนได้ โดยพบว่าการกินโสมอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้ความจำดีขึ้น แต่การกินโสมร่วมกับใบแปะก๊วย ช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ ในคนสุขภาพดีทั่วไปในช่วงอายุ 38 – 66 ปี
- สมรรถภาพทางเพศชาย พบว่าการกินโสมช่วยให้อาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ดีขึ้นได้
- หลั่งน้ำอสุจิเร็วกว่าปกติ พบว่า การใช้ครีมที่ประกอบด้วยโสม, อบเชย, Angelica root และสมุนไพรอื่นๆ โดยทาที่อวัยวะเพศชายก่อนมีเพศสัมพันธ์ 1 ชั่วโมง และล้างออกก่อนมีเพศสัมพันธ์ทันที สามารถช่วยป้องกันอาการหลั่งเร็วได้
- การกินโสมแดงเกาหลี ช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศและความพึงพอใจ (Sexual arousal and satisfaction) ในหญิงที่หมดประจำเดือนแล้วได้
- ไข้หวัดใหญ่ พบว่าการกินโสมต่อเนื่อง ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากเป็นหวัดแล้ว ยังไม่พบว่าช่วยลดอาการ หรือ ระยะเวลาในการเป็นได้
- ถุงลมโป่งพอง หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบว่าการกินโสมช่วยให้การทำงานของปอด และ อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้
ภาวะอื่นๆต่อไปนี้ อาจต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปครับ
- ความจำเสื่อมตามอายุ การกินโสมและสมุนไพรอื่นๆเป็นเวลา 1 เดือน ช่วยให้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลงลืม ความจำดีขึ้นได้
- หลอดลมอักเสบเรื้อรัง พบว่าการกินโสมร่วมกับยาฆ่าเชื้อ อาจช่วยให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดีกว่าการกินยาฆ่าเชื้อเพียงอย่างเดียว
- มะเร็ง บางงานวิจัยพบว่า การกินโสมอาจช่วยลดโอกาสในการเป็นมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนัง อย่างไรก็ตาม บางงานวิจัยก็พบว่าโสมไม่ช่วยลดโอกาสในการเป็นมะเร็ง แต่สามารถช่วยให้มะเร็งโตช้าลง และ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้
- หวัด บางงานวิจัยพบว่าการกินโสมช่วยลดโอกาสในการเป็นหวัดได้
- หัวใจล้มเหลว พบว่าการกินโสมทุกวัน ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้นได้
- เบาหวาน งานวิจัยยังออกมาไม่ตรงกัน มีเพียงบางงานวิจัยพบว่า การกินโสมทุกวันช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นได้
- อาการเหนื่อยอ่อนเพลีย พบว่าการกินโสมทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน ช่วยลดอาการเหนื่อยอ่อนเพลียได้
- ปากมีกลิ่น พบว่าการกินโสมแดงเกาหลีวันละครั้ง เป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง ช่วยลดอาการปากเหม็น และ ลมหายใจมีกลิ่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อแบคทีเรีย pylori ร่วมด้วย
- อาการมึนศีรษะหลังดื่มเหล้า (Hangover) งานวิจัยพบว่า การกินเครื่องดื่มสารสกัดโสมภายในเวลา 5 นาทีของการดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการกินชีส อาจช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ และ ลดอาการมึนศีรษะ หลังดื่มเหล้าได้
- การสูญเสียการได้ยิน งานวิจัยเบื้องต้นพบว่า การกินโสมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ช่วยลดการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราวที่เกิดจากเสียงดังได้ อย่างไรก็ตามอาจได้ผลดีน้อยกว่าการใช้ N-acetyle cysteine (NAC) (NAC ที่เรารู้จักกันคือมักใช้เป็นยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ หรือ ซองละลายน้ำ หรือบางคนนำไปใช้เรื่องช่วยผิวขาว เนื่องจากช่วยต้านอนุมูลอิสระ และเป็นสารตั้งต้นของกลูต้าไทโอน)
- โรคติดเชื้อเอชไอวี งานวิจัยเบื้องต้นพบว่าโสมเกาหลีสามารถช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน หรือ เม็ดเลือดขาว ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี แต่พบว่าไม่เปลี่ยนแปลงจำนวนเชื้อไวรัสในกระแสเลือด
- ความดันโลหิตสูง ผลงานวิจัยยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน บางงานวิจัยพบว่าการกินโสมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 2 เดือนช่วยลดความดันโลหิตได้เล็กน้อยในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง บางงานวิจัยพบว่าไม่สามารถช่วยลดความดันได้
- ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มสูง (ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน) การกินโสมเกาหลี ร่วมกับซอสถั่วเหลืองหมักของเกาหลี (Cheonggukjang) ช่วยลดระดับน้ำตาลก่อนอาหารในผู้ที่เริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโสมหมักสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร และ เพิ่มการหลั่งอินซูลินหลังอาหารในผู้ที่เริ่มมีระดับน้ำตาลสูงได้
- อาการช่วงหมดประจำเดือน พบว่าโสมช่วยลดบางอาการที่เกิดขึ้นในช่วงหมดประจำเดือนได้ เช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า แต่ยังไม่พบว่าช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลที่มักสูงในช่วงวัยหมดประจำเดือนอีกด้วย
- ซึมเศร้า วิตกกังวล
- อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดตามข้อ
- โลหิตจาง
- กระเพาะอาหารอักเสบ ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร
- ปวดปลายประสาท
Safety
- โสมอาจปลอดภัยเมื่อใช้ในระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน
- โสมอาจจะไม่ปลอดภัยเมื่อรับประทานเป็นระยะเวลานานเกิน 6 เดือน นักวิจัยคาดว่าอาจเกิดผลข้างเคียงแบบฮอร์โมน (Hormone-like effect)
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด คือ นอนไม่หลับ ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆที่พบน้อย เช่น ประจำเดือนผิดปกติ เจ็บตึงคัดเต้านม หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย อาการคัน ผื่นผิวหนัง เวียนศีรษะ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ประจำเดือนผิดปกติ ผลข้างเคียงที่พบน้อยมากที่มีรายงาน เช่น อาการแพ้แบบรุนแรง ตับถูกทำลาย
- ไม่ควรรับประทานโสมขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากการทดลองในสัตว์พบว่าสารบางอย่างในโสมทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดได้
- ไม่มีข้อมูลการใช้ในหญิงให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการใช้โสมขณะให้นมบุตร
- ไม่ควรใช้ในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก การใช้โสมในเด็กอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ พบว่าโสมเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคพุ่มพวง (SLE), ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นมากขึ้นได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้โสมหากเป็นโรคดังกล่าว
- เลือดออกผิดปกติ พบว่าโสมอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จึงควรหลีกเลี่ยงโสมหากเป็นโรคที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- โรคหัวใจ โสมอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วในช่วงแรกของการใช้ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ต่อเนื่องมักไม่มีอาการดังกล่าว ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ในโรคหัวใจ
- เบาหวาน พบว่าโสมอาจลดระดับน้ำตาล ดังนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานที่กินยาลดน้ำตาลในเลือดอยู่อาจต้องติดตามระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้น้ำตาลต่ำเกินไป และปรึกษาแพทย์ร่วมด้วย อาการที่น้ำตาลต่ำกว่าปกติที่สังเกตได้เช่น ใจหวิว หิวข้าว เหงื่อออก ใจสั่น
- ภาวะที่ไวต่อฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ ช็อกโกแล็ตซิสต์ เนื่องจากโสมมีสาร Ginsenosides ที่ทำตัวเหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ถ้ามีภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงเอสโ่ตรเจน จึงควรหลีกเลี่ยงโสมด้วย
- นอนไม่หลับ พบว่าการกินโสมขนาดสูงๆ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ดังนั้นควรใช้โสมอย่างระมัดระวัง
- ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ โสมอาจทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้น ดังนั้นจึงอาจมีผลกับยากดภูมิที่ให้เพื่อไม่ให้ภูมิของเราต้านอวัยวะที่ปลูกถ่าย จึงควรหลีกเลี่ยงโสมหากได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- โรคจิตเภท โสมขนาดสูงอาจทำให้นอนหลับยากขึ้น หรือ กระวนกระวายในคนที่เป็นจิตเภท ดังนั้นจึงควรใช้โสมอย่างระมัดระวัง
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ร่วมกับโสม เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกัน อาจทำให้รู้สึกใจสั่น และกระสับกระส่ายมากขึ้นได้
- ควรระมัดระวัง หรือ หลีกเลี่ยงการใช้โสมหากรับประทานยาต่างๆต่อไปนี้
- ยาต้านซึมเศร้า หรือ ยาลดน้ำมูก Actifed, Maxiphed เช่น เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกัน อาจทำให้รู้สึกใจสั่น และกระสับกระส่ายมากขึ้นได้
- ยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโสมอาจทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้น อาจทำให้ยาได้ผลลดลงได้
- ยาเบาหวาน หากต้องการใช้โสมควรใช้อย่างระมัดระวังน้ำตาลต่ำเกินไป เนื่องจากมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลเช่นกัน และควรตรวจน้ำตาลอย่างใกล้ชิด
- ยาที่ถูกขับออกโดยตับ เนื่องจากโสมอาจทำให้ตับขับยาออกได้ช้าลง มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆได้มากขึ้น เช่น ยาแก้ปวด Tramadol, ยาลดความดัน Metoprolol, ยาโรคอัลไซเมอร์ (Aricept), ยาโรคซึมเศร้า Fluoxetine
- ยาละลายลิ่มเลือด หรือต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Aspirin, Warfarin เนื่องจากโสมอาจทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลงได้เช่นเดียวกัน
How to Choose / Use
ขนาดยาที่ใช้ในงานวิจัยในภาวะต่างๆ มีดังนี้
- อัลไซเมอร์ ใช้รากโสม 4.5-9 กรัม เป็นเวลา 3 เดือน
- ช่วยเรื่องความคิด ความจำ ใช้สารสกัดโสม 200-400 mg แบ่งกินวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน
- โรคถุงลมโป่งพอง หรือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ใช้โสม 100 mg ถึง 6 กรัม วันละ 3 เวลา เป็นเวลามากที่สุด 3 เดือน
- สมรรถภาพเพศชาย (อวัยวะเพศไม่แข็งตัว) ใช้โสม 1400-2700 mg แบ่งกินวันละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน
- กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ใช้โสมแดงเกาหลี 3 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน
- ไข้หวัดใหญ่ ใช้สารสกัดโสม 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน