แคลเซียม (Calcium) : ใครควรกินแคลเซียมเสริมบ้าง ? ควรกินปริมาณเท่าไรดี ?

แคลเซียม (Calcium) : ใครควรกินแคลเซียมเสริมบ้าง ? ควรกินปริมาณเท่าไรดี ?
User Rating 0 (0 votes)
Sending
0 (0 reviews)

แคลเซียม (Calcium)

แคลเซียม


Overview

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายชนิดหนึ่ง โดยกระดูกและฟันมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบถึง 99% นอกจากนี้ แคลเซียมยังอยู่ในเลือด กล้ามเนื้อ และ เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย


Benefits

แคลเซียมมีประโยชน์อย่างไร ?

แคลเซียมมีส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังจำเป็นต่อการทำงานของหัวใจ ระบบประสาท และ การแข็งตัวของเลือดอีกด้วย


ใครบ้างที่อาจได้ประโยชน์จากการกินแคลเซียมเสริม ?

  • ผู้สูงอายุ
  • หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • โรคกระดูกพรุน หรือ มวลกระดูกเริ่มลดลง
  • ผู้ที่อาจมีระดับแคลเซียมต่ำ เช่น สูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้การดูดซึมแคลเซียมไม่ดี หรือผู้ที่มีภาวะกรดในกระเพาะน้อยกว่าปกติ (Achlorhydria) ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลงในขณะท้องว่าง ในผู้ป่วยโรคนี้ให้รับประทานแคลเซียมพร้อมอาหารจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น

แคลเซียม & โรคต่างๆ

แคลเซียมมีประโยชน์กับโรค หรือ ภาวะต่างๆดังนี้

  • อาการจุกแน่น ปวดท้อง  แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) ช่วยลดอาการได้ โดยช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • แคลเซียมในเลือดต่ำ  การกินแคลเซียมเสริมสามารถช่วยภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำได้
  • โรคไตวายเรื้อรังที่มีระดับฟอสฟอรัสสูงเกินไป  แคลเซียมสามารถช่วยควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดได้ (เฉพาะชนิด Calcium carbonate และ Calcium acetate)
  • กระดูกพรุน (Osteoporosis)  การรับประทานแคลเซียมเสริมช่วยป้องกัน และ รักษาภาวะมวลกระดูกลดลง และ กระดูกพรุนได้
  • ลดอาการช่วงมีประจำเดือน  เช่น อารมณ์แปรปรวน จุกแน่นท้อง อาการหิวใจสั่น และอาการปวดประจำเดือน
  • ฟันหลุดร่วง  พบว่าการกินแคลเซียมร่วมกับวิตามินดี ช่วยป้องกันฟันหลุดร่วงในผู้สูงอายุได้

Safety

โดยทั่วไปแคลเซียมปลอดภัยเมื่อใช้ไม่เกินขนาดที่กำหนด โดยผลข้างเคียงพบได้น้อย เช่น จุกแน่นท้อง

อายุ ขนาดแคลเซียมที่แนะนำต่อวัน
(Recommended Daily Allowance/RDA)
1-3 ปี 700 mg
4-8 ปี 1000 mg
9-18 ปี 1300 mg
19-50 ปี 1000 mg
ชาย 51-70 ปี 1000 mg
หญิง 51-70 ปี 1200 mg
70 ปีขึ้นไป 1200 mg

 

โดย Institute of Medicine กำหนดขนาดยาสูงสุดที่สามารถกินได้ ดังนี้

อายุ ปริมาณแคลเซียมทั้งหมดสูงสุดที่กินได้ต่อวัน (รวมทั้งปริมาณแคลเซียมจากอาหารและแคลเซียมเสริม)
0-6 เดือน 1000 mg
6-12 เดือน 1500 mg
1-8 ปี 2500 mg
9-18 ปี 3000 mg
19-50 ปี 2500 mg
51 ปีขึ้นไป 2000 mg

 

ขนาดยาที่สูงกว่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายได้ จึงไม่ควรกินเกินขนาดดังกล่าว

บางงานวิจัยกล่าวว่าขนาดยาที่สูงเกิน 1000-1300 mg ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ดังนั้นเราจึงควรกินแคลเซียมทั้งหมด (รวมทั้งอาหารและแคลเซียมเสริม) ไม่เกินขนาดที่แนะนำต่อวัน

 

เราควรกินแคลเซียมเสริมกี่มิลลิกรัม ?

คำนวณได้ดังนี้ครับ

  • แคลเซียมจากอาหารทั่วไป ให้คิดประมาณเป็น 300 mg ต่อวัน
  • หากดื่มนม ให้คิดเป็น 300 mg ต่อแก้ว

เช่น อายุ 55 ปี กินนม 1 แก้วต่อวัน ปริมาณแคลเซียมที่ต้องการเพิ่มเติมคือ ไม่เกิน 2000-300-300=1400mg ต่อวัน

อาจต้องระมัดระวังการใช้แคลเซียมเสริมในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีระดับแคลเซียมสูงผิดปกติ เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคมะเร็งบางชนิด โรคติดเชื้อ Sarcoidosis หรือวัณโรค
  • ผู้ที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง หรือ ต่ำผิดปกติ เนื่องจากแคลเซียมและฟอสเฟตต้องมีความสมดุลกัน ดังนั้นหากมีภาวะระดับฟอสเฟตผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการกินแคลเซียมเสริม
  • ไทรอยด์ต่ำ (ไทรอยด์ไม่เป็นพิษ) เนื่องจากแคลเซียมอาจมีผลต่อยาไทรอยด์ ดังนั้นควรกินห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  • โรคไตเรื้อรัง เนื่องจากหากไตทำงานผิดปกติ การกินแคลเซียมเสริมอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติได้
  • การกินแคลเซียมร่วมกับยาฆ่าเชื้อที่มักใช้ในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อช่องคลอด/มดลูก หรือ ท้องเสีย เช่น Norfloxacin, Ciprofloxacin อาจทำให้การดูดซึมยาฆ่าเชื้อลดลงได้ ดังนั้นจึงควรกินแคลเซียมหลังจากยาฆ่าเชื้อเหล่านี้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ส่วนยาฆ่าเชื้อ Tetracyclin ควรกินแคลเซียม 2 ชั่วโมงก่อน หรือ 4 ชั่วโมงหลังกินยา Tetracyclin
  • ยาที่ใช้ในโรคกระดูกพรุน Bisphosphonates หากกินยานี้อยู่ ควรกินอย่างน้อย 30 นาทีก่อนการกินแคลเซียม เนื่องจากแคลเซียมทำให้การดูดซึมยานี้ลดลงได้
  • ผู้ที่กินยาโรคหัวใจ เช่น Digoxin, Diltazem, Verapamil เนื่องจากแคลเซียมเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการกินแคลเซียมเสริม
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide เนื่องจากยากลุ่มนี้บางตัว เช่น Hydrochlorothiazide ทำให้ปริมาณแคลเซียมในร่างกายเพิ่มขึ้นได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการกินแคลเซียมเสริม

How To Choose / Use

  • บางครั้งขนาดยาที่อยู่ในฉลากจะแสดงขนาดรวม Calcium และ Carbonate ต้องสังเกตว่าเป็นตัวธาตุแคลเซียมจริงๆเท่าไร เนื่องจากขนาดที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นขนาดของแคลเซียมเดี่ยวๆ ดังนั้นให้ดูที่คำว่า Elemental calcium หรือ Equivaltent to calcium….mg เช่น สมมติ แคลเทรต (Calcium carbonate 1650 mg has elemental calcium 600 mg) มีแคลเซียมคาร์บอเนต 1650 mg คิดเป็นแคลเซียมจริงๆ 600 mg เท่านั้นครับ
  • แคลเซียมที่นิยมใช้กันคือชนิด แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) และ แคลเซียมซิเตรท (Calcium citrate)
    • แคลเซียมคาร์บอเนต

      พบได้มากที่สุด ราคาถูก มีปริมาณแคลเซียม (elemental calcium) ประมาณ 40% แต่ดูดซึมยาก ต้องการภาวะกรดในกระเพาะเพื่อการดูดซึม จึงควรรับประทานพร้อมอาหาร ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำย่อยที่เป็นกรดหลั่ง เพื่อให้ดูดซึมได้ดี นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูกได้บ่อย

    • แคลเซียมซิเทรต

      ราคาแพงกว่า มีปริมาณแคลเซียม (elemental calcium) น้อยกว่า คือประมาณ 21% แต่สามารถทานเวลาไหนก็ได้เนื่องจากดูดซึมได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยกรดในกระเพาะช่วยในการดูดซึม ดังนั้นเมื่อเฉลี่ยกันแล้วทั้งแบบแคลเซียมซิเทรต และ แคลเซียมคาร์บอเนต ผลที่ได้จึงอาจไม่แตกต่างกันมากนัก

  • ปริมาณที่กินแคลเซียมในแต่ละมื้อไม่ควรเกิน 500 mg (elemental calcium) เนื่องจากยิ่งแคลเซียมปริมาณสูง ร่างกายยิ่งดูดซึมและนำมาใช้ได้ยากขึ้น หากต้องการเสริมมากกว่า 500 mg อาจแบ่งเป็นกิน 2 เวลาเช้าเย็น เพื่อให้การดูดซึมดีขึ้น
  • ป้องกันกระดูกพรุนใช้ขนาด 1,000-1,600 mg ต่อวัน (รวมทั้งในอาหารและแคลเซียมเสริม) การรักษากระดูกพรุนตามแนวทางการรักษาของประเทศอเมริกา (Osteoporosis treatment guidelines in North America) ใช้แคลเซียม 1,200 mg ต่อวัน
  • ป้องกันอาการช่วงมีประจำเดือน เช่น อารมณ์แปรปรวน ปวดท้องประจำเดือน ใ่ช้ขนาด 1,000 – 1,200 mg ต่อวัน ในรูปแคลเซียมคาร์บอเนต
  • ป้องกันมวลกระดูกลดลงในผู้ที่ใช้ยาสเตอรอยด์เป็นประจำ ใช้แคลเซียม 1,000 mg ต่อวัน
  • ป้องกันมวลกระดูกลดลงในหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ใช้แคลเซียม 1,000 mg ต่อวัน
  • อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าไม่ควรกินแคลเซียมเกิน 1,000 – 1,300 mg ต่อวัน เนื่องจากบางงานวิจัยกล่าวว่าการกินขนาดสูงกว่านี้อาจเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้นได้
  • แคลเซียมอาจมีปฏิกิริยากับยาหลายชนิด (อ่านได้ที่หัวข้อ Safety) นอกจากนี้ ควรกินให้ห่างจากวิตามินรวม หรือ อาหารที่มีธาตุเหล็กมากๆ หรือ วิตามินแร่ธาตุเสริม เช่น เหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม เนื่องจากอาจทำให้ดูดซึมแร่ธาตุแต่ละตัวรวมถึงแคลเซียมได้น้อยลง

Reference:

John J.B. Anderson et al. Calcium Intake From Diet and Supplements and the Risk of Coronary Artery Calcification and its Progression Among Older Adults: 10‐Year Follow‐up of the Multi‐Ethnic Study of Atherosclerosis (MESA).J Am Heart Assoc. 2016 Oct 11;5(10)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Sending